การพยาบาลผู้ป่วยโรควัณโรคปอดที่มีโรคอื่นร่วมโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน : กรณีศึกษา

เจ้าของผลงาน/ผู้นำเสนอ : นางสาววัฒนา เข็มทอง  กลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลปรางค์กู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

หลักการและเหตุผล :

วัตถุประสงค์ : เพื่อหาแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรควัณโรคปอดที่มีโรคอื่นร่วมโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน

วิธีการดำเนินงาน : ทบทวน ค้นคว้าเอกสาร ตำราวิชาการที่เกี่ยวข้องกับโรควัณโรคปอดที่มีโรคอื่นร่วม การค้นหาผู้ป่วย การดูแลรักษาพยาบาล  การกำกับการกินยาอย่างต่อเนื่อง และการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย นำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ศึกษาโดยใช้กระบวนการพยาบาลเป็นหลัก แนวคิดในการให้การพยาบาลผู้ป่วยอย่าครอบคลุม

ผลการศึกษา : ผู้ป่วยชายไทย อายุ 49 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการ ไข้ ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด 4 กิโลกรัมใน 1 เดือน เป็นก่อนมาโรงพยาบาล 1 เดือน แรกรับ อุณหภูมิร่างกาย 37.3 องศาเซลเซียส  ชีพจร 88 ครั้งต่อนาที หายใจ 24 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิต 110/60 มิลลิเมตรปรอท แพทย์ให้เอ็กซเรย์ปอดพบปอดผิดปกติเข้าได้กับวัณโรค ให้ประวัติป่วยด้วยเบาหวานมาก่อน เริ่มรักษามาได้ 4 เดือน ตรวจเสมหะพบเชื้อวัณโรคระดับ 2+ แพทย์วินิจฉัย วัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ และมีเบาหวานร่วมด้วย แพทย์ให้รับประทานยาวัณโรคที่โรงพยาบาลปรางค์กู่ 3 วัน ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จึงจำหน่ายให้กลับบ้านได้ หลังจำหน่ายได้วางแผนการดูแลที่บ้านกับทีมสหวิชาชีพรวมทั้งครอบครัวและชุมชน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทำหน้าที่พี่เลี้ยงกำกับการกินยาที่บ้าน จากการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยครั้งแรก พบว่าผู้ป่วยอาศัยอยู่ในบ้านกับภรรยา ก่อนป่วยผู้ป่วยทำงานรับจ้างงานก่อสร้างอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่กลับมาอยู่บ้านเมื่อป่วย ส่วนบุตรสาว 2 คน ไปเรียนต่อต่างจังหวัด จะกลับบ้านเดือนละ 1 ครั้ง ผู้ป่วยไปรับการรักษาเบาหวานไม่ต่อเนื่อง ผลน้ำตาลในเลือดสูง  รักษาเบาหวานด้วยยากิน แต่กินไม่สม่ำเสมอ ทีมสหวิชาชีพจึงได้วางแผนให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยงกำกับการกินยาร่วมกับภรรยาของผู้ป่วยทุกวัน และมีการจดบันทึกในสมุดประจำตัว  ด้วยการให้ความรู้เรื่องวัณโรค สาเหตุของโรค การรักษาด้วยยาและอาการข้างเคียงของยา การเก็บยาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ การไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือการข้างเคียงจากยา การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ แก่ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน และเน้นการรับยาเบาหวานตามนัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และมีการกำหนดเยี่ยมในระยะเข้มข้นสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นเวลา 2 เดือน และจากเดือนที่ 3-6 มีการติดตามเยี่ยมเดือนละ 1 ครั้ง จากการดูแลรักษาแบบมีส่วนร่วมของครอบรัวและชุมชนนี้ทำให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาทุกวันอย่างถูกต้องและครบถ้วน เมื่อครบ 2 เดือนตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ และได้รับการรักษาระยะต่อเนื่อง เมื่อครบ 6 เดือน ผู้ป่วยตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ มีการรับยาที่คลินิกเบาหวานสม่ำเสมอตามนัด และกินยาทุกวัน หลังรักษาครบ 6 เดือน แพทย์จึงจำหน่ายจากคลินิกวัณโรคด้วยผลการรักษาหาย

 

ข้อเสนอแนะและการนำไปใช้: การรักษาพยาบาลร่วมกับการเสริมพลังอำนาจให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความตระหนัก มั่นใจ ในการดูแลตนเอง แก้ปัญหาของตนเอง ตอบสนองความต้องการของตนเอง และการสนับสนุนแหล่งทรัพยากรจากชุมชนจะสามารถช่วยให้สามารถรักษาวัณโรคให้หายขาดได้

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *