การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการดูแลทารกน้ำหนักตัวน้อยเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

 นางสาวปรานี  อสิพงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

งานห้องคลอด โรงพยาบาลปรางค์กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ 33170 , Tel 045-697050 ต่อ 111

บทคัดย่อ

            ทารกแรกเกิดที่มีอุณหภูมิกายต่ำ(Hypothermia) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในห้องคลอด ร่างกายทารกจะมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มความร้อนภายในร่างกายโดยการเพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่ต้องใช้ออกซิเจนและกลูโคสจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจตามมาเช่น ทารกหายใจเร็ว หายใจลำบาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึม ดูดนมได้น้อย จากสถานการณ์ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยของโรงพยาบาลปรางค์กู่ 3 ปีย้อนหลัง ปี 2559-2561 มี 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.78 ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้แก่ ภาวะอุณหภูมิกายต่ำ 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.70 ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.88 ภาวะเลือดข้น 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.88  ภาวะตัวเหลือง 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.88 จะเห็นได้ว่าภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดพบมากที่สุด ดังนั้นทีมจึงได้มุ่งเน้นพัฒนาแนวทางปฏิบัติการดูแลทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กลุ่มศึกษาคือทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยทั้งหมดที่คลอดในโรงพยาบาลปรางค์กู่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 – 2564 เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด  เปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนการพัฒนาปี 2559-2561 กับหลังพัฒนา ให้ลดลงจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 30 วิเคราะห์และประเมินผลโดยใช้สถิติร้อยละ วิธีดำเนินการ 1. มีการทบทวนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในกลุ่มทารกน้ำหนักตัวน้อย 2. จัดทำแนวทางปฏิบัติการดูแลทารกน้ำหนักตัวน้อยเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำ โดยแบ่งออกเป็นระยะก่อนคลอด ระยะหลังคลอดทันทีและระยะหลังคลอด โดยมีกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนดังนี้ 2.1 มีการฝึกทักษะของบุคลากรในการใช้เครื่อง Radiant warmer ได้อย่างถูกต้องและตรวจสอบความพร้อมของ Radiant warmer ให้พร้อมใช้อยู่เสมอ 2.2  มีแนวทางในการดูแลทารกแรกเกิดอุณหภูมิกายต่ำที่เป็นแนวทางเดียวกัน 2.3 ปูผ้าใต้ radiant warmer 2 ผืน และอุ่นผ้ารับเด็ก เสื้อผ้าเด็ก กระดาษรองชั่งน้ำหนัก เมื่อปากมดลูกเปิด 8 ซม.หรือ อย่างน้อย 10-15 นาที ก่อนคลอด 2.4 กำหนดให้ปิดแอร์ทุกครั้งหลังศีรษะทารกคลอด 3. จัดประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อนำแนวทางลงสู่การปฏิบัติ 4. เก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์และประเมินผลโดยใช้สถิติร้อยละเปรียบเทียบก่อนและหลังการดำเนินงาน(จัดทำแบบฟอร์มเก็บข้อมูลทุกราย) ผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2562- 2564 มีทารกน้ำหนักตัวน้อยทั้งหมด 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.92 จากการนำแนวทางปฏิบัติการพยาบาลดูแลทารกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำมาใช้พบมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ 9 ราย คิดเป็นร้อยล่ะ 25 ลดลงตามเป้าหมาย จะเห็นได้ว่า ทารกสามารถสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายได้ง่ายทั้งโดยการนำ การพา การระเหย และการแผ่รังสี แนวทางปฏิบัติการดูแลทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำ ยังมีปัจจัยที่ทำให้ทารกยังมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำที่ต้องพัฒนาต่อ คือการเตรียมอุปกรณ์รับเด็ก ปูผ้าใต้ radiant warmer 2 ผืน และอุ่นผ้ารับเด็ก เสื้อผ้าเด็ก อย่างน้อย 10-15 นาทีก่อนทารกคลอดและสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้  การบริหารจัดการระบบยังไม่ครอบคลุมเช่นการปิดพัดลมหลังคลอดตำแหน่งที่ทารกนอนอยู่ keep อุณหภูมิห้อง 26-28 องศาเซลเซียส หรือทำนวัตกรรมเพื่อ keep warm กลุ่มทารกที่มีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดตามมา เช่น ทารกอาจมีหายใจเร็ว หายใจลำบาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึม ดูดนมช้าหรือดูดนมได้น้อยลง และช่วยลดระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการรักษาพยาบาล และลดผลกระทบต่อครอบครัว ทำให้เกิดความสุขกับครอบครัวและผู้ให้บริการ

สาระสำคัญ

ชื่อผลงาน :  การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการดูแลทารกน้ำหนักตัวน้อยเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

เจ้าของผลงาน : นางสาวปรานี  อสิพงษ์ งานห้องคลอด โรงพยาบาลปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ

ผู้นำเสนอ : นางสาวปรานี  อสิพงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

สถานที่ติดต่อ : งานห้องคลอดโรงพยาบาลปรางค์กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ  , Tel 045-697050 ต่อ 111

บทนำ : ทารกแรกเกิดที่มีอุณหภูมิกายต่ำ(Hypothermia) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในห้องคลอด ร่างกายทารกจะมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มความร้อนภายในร่างกายโดยการเพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่ต้องใช้ออกซิเจนและกลูโคสจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจตามมาเช่น ทารกหายใจเร็ว หายใจลำบาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึม ดูดนมได้น้อย ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยมีโอกาสสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายได้ง่ายทั้งโดยการนำ การพา การระเหย และการแผ่รังสี สถานการณ์ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยของโรงพยาบาลปรางค์กู่ 3 ปีย้อนหลัง ปี2559-2561 มี 34 ราย จากยอดคลอดทั้งหมด 588 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.78 ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบในทารกกลุ่มนี้มีดังนี้ภาวะอุณหภูมิกายต่ำ 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.70 ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.88 ภาวะเลือดข้น 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.88  ภาวะตัวเหลือง 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.88 จะเห็นได้ว่าภาวะอุณหภูมิกายต่ำพบมากที่สุด และแนวทางการดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะอุณหภูมิกายต่ำยังไม่ชัดเจน มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้นทีมจึงได้มุ่งเน้นพัฒนาแนวทางปฏิบัติ การพยาบาลการดูแลทารกที่มีน้ำหนักน้อยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอดให้ลดลงจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 30

วิธีการศึกษาและกิจกรรมในการพัฒนา เป็นการศึกษาและพัฒนาระบบเพื่อดูแลทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยไม่ให้เกิดภาวะHypothermia โดยนำแนวทางปฏิบัติมาใช้ในทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยทุกรายที่คลอดในโรงพยาบาลปรางค์กู่ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2564 เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด  เปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนการพัฒนาปี 2559-2561 ให้ลดลงจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 30 วิเคราะห์และประเมินผลโดยใช้สถิติร้อยละ

วิธีดำเนินการ

  1.มีการทบทวนการสูญเสียความร้อนที่ผิวกายให้กับสิ่งแวดล้อมได้ 4 วิธี

  2.จัดทำแนวทางปฏิบัติการดูแลทารกน้ำหนักตัวน้อยเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำให้เป็นแนวทางเดียวกันโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. มีการฝึกทักษะของบุคลากรในการใช้เครื่อง Radiant warmer ได้อย่างถูกต้องและตรวจสอบความพร้อมของ Radiant warmer ให้พร้อมใช้อยู่เสมอ

2. มีแนวทางในการดูแลทารกแรกเกิดอุณหภูมิกายต่ำที่เป็นแนวทางเดียวกัน

3. ปูผ้าใต้ radiant warmer 2 ผืน และอุ่นผ้ารับเด็ก เสื้อผ้าเด็ก กระดาษรองชั่งน้ำหนัก เมื่อปากมดลูกเปิด 8 ซม.หรือ อย่างน้อย 10-15 นาที ก่อนคลอด

4. กำหนดให้ปิดแอร์ทุกครั้งหลังศีรษะทารกคลอด

5.การย้ายดูแลต่อหลังคลอดวัดซ้ำใน 2 ชั่วโมงหลังคลอด ถ้าอุณหภูมิกายคงที่วัดซ้ำทุก 4 ชม. หากพบอุณหภูมิต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส ให้นำทารกไปให้ความอบอุ่นใต้เครื่อง radiant warmer (กรณีมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำในห้องคลอด ให้วัดซ้ำทุก 15 นาที จนกว่าอุณหภูมิสูงถึง 36.5องศาเซลเซียส)  

6.ขณะอยู่หลังคลอด 2 ชั่วโมง ดูแลมิให้ทารกนอนแช่ปัสสาวะหรืออุจจาระ หลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมตำแหน่งที่ทารกนอนอยู่

7.ให้ข้อมูลมารดาและญาติในการดูแลและป้องกันการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิด

 

3. จัดประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อนำแนวทางลงสู่การปฏิบัติ

4.เก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์และประเมินผลโดยใช้สถิติร้อยละเปรียบเทียบก่อนและหลังการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงาน: ปีงบประมาณ 2562- 2564 มีทารกน้ำหนักตัวน้อยทั้งหมด 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.92 พบมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 ลดลงตามเป้าหมาย ดังกราฟ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *