พัฒนาแนวทางป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในโรงพยาบาลปรางค์กู่

นางสาวอนุชิดา แหวนวงษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
งานห้องคลอด โรงพยาบาลปรางค์กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ

        โรคเอดส์เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการได้รับเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) และปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จากรายงานการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2554 อุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 0.18 ซึ่งสูงกว่าในปี พ.ศ. 2548 ถึง 4.70 เท่า นอกจากนี้ทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีประมาณร้อยละ 25 40  โดยการติดเชื้อเอชไอวีสามารถส่งผ่านสู่ทารกในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการระหว่างคลอด ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขในการดูแลหญิงตั้งครรภ์และทารกที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยให้สถานบริการสุขภาพดำเนินงานป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งโรงพยาบาลปรางค์กู่เป็นโรงพยาบาลชุมชน พบหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมาคลอดไม่บ่อยหนัก ในปี พ.ศ. 2563 พบหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมาคลอด 1 ราย แต่ได้รับการส่งต่อไปรพ.ศรีสะเกษเนื่องจากรพ.ปรางค์กู่ไม่มี AZT syrup สำหรับทารก จากการทบทวนพบว่าไม่มีแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะคลอด หลังคลอดและทารกที่ชัดเจน และไม่ได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทีมจึงได้พัฒนาแนวทางการพยาบาลที่เหมาะสมกับบริบทในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะคลอด หลังคลอดและทารก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เป้าหมาย 1. อัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก 0%  2. อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางที่กำหนด 100% 3. อัตราเด็กทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับนมผสม 100%  กลุ่มตัวอย่างคือหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผลเลือดต่างและทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและผลเลือดต่างในรพ.ปรางค์กู่ปีงบประมาณ 2564 – 2565

วิธีดำเนินการ โดยจัดประชุมทีมงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอปัญหาและทบทวนวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีระบบการส่งข้อมูลกับแผนก ANC  จัดทำแนวทางการดูและหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีและผลเลือดต่างในระยะคลอดหลังคลอดและทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและผลเลือดต่าง และนำแนวทางปฏิบัติการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีและผลเลือดต่างในระยะคลอด หลังคลอดและทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและผลเลือดต่างลงสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ แผนกห้องคลอด หลังคลอด ANC และเภสัชกรรม จากการติดตามผลการตรวจเลือดทารกปี 2564 ไม่พบการติดเชื้อจากเอชไอวีจากแม่สู่ลูกเมื่อทารกอายุครบ 2 เดือน ทารกไม่ได้รับการเจาะเลือด PCR for HIV 1 ราย จากจำนวนทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี 1 ราย และมารดามีผลเลือดต่างจำนวน 2 ราย  ปี 2565 ทารกคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี 1 ราย ได้รับการเจาะเลือดส่งตรวจ PCR for HIV  เมื่อแรกเกิด จากการดำเนินงานแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะคลอดและหลังคลอดทำให้มีแนวทางปฏิบัติและระบบการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น พบว่าสามารถป้องการติดเชื้อจากเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและได้รับการดูแลตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงกระบวนการดูแลของพยาบาลในระหว่างการคลอด หลังคลอด การให้ยาต้านไวรัส การตรวจเลือดทารกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก แต่ยังพบทารกที่ไม่ได้รับการตรวจเลือด 1 รายคลอดจากมารดาที่มีผลเลือดต่าง

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *